รายงานเครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจที่สำคัญสำหรับภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ประจำปี พ.ศ. 2555 (Key Indicators for Asia and the Pacific 2012) ของธนาคารพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) ระบุว่า ภูมิภาคเอเชียจะต้องเริ่มหามาตรการสำหรับการเติบโตของเมืองที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ มิเช่นนั้นอาจจะต้องเผชิญกับอนาคตที่มืดมัวที่มาพร้อมกับการเสื่อมโทรมทางสิ่งแวดล้อม
นาย Changyong Rhee หัวหน้าเศรษฐกรของเอดีบีกล่าวว่า “ภูมิภาคเอเชียได้เผชิญกับสภาวะการเติบโตของชุมชนเมืองในอัตราที่รวดเร็วอย่างคาดไม่ถึง ซึ่งเกิดขึ้นพร้อม ๆ กับผลกระทบที่มีต่อสิ่งแวดล้อม ความท้าทายในปัจจุบันของผู้กำหนดนโยบายก็คือการดำเนินนโยบายที่จะเอื้อประโยชน์ต่อการพัฒนาเทคโลโลยีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม”
รายงายฉบับนี้ของเอดีบีระบุด้วยว่า นับตั้งแต่ศตวรรษที่ 1980 เป็นต้นมา ภูมิภาคเอเชียได้เปลี่ยนแปลงสู่สภาพความเป็นเมืองในอัตราที่รวดเร็วกว่าภูมิภาคอื่น ๆ ในโลก โดยในปัจจุบัน ภูมิภาคเอเชียมีพลเมืองอาศัยในชุมชนเมืองเป็นจำนวนเกือบครึ่งหนึ่งของโลก และในเวลากว่าทศวรรษข้างหน้า ภูมิภาคเอเชียจะมีจำนวนมหานครถึง 21 แห่ง จากจำนวน 37 มหานครทั่วโลก และคาดว่าในเวลาอีก 30 ปี พลเมืองเอเชียอีก 1.1 พันล้านคนจะหลั่งไหลเข้ามาอาศัยในชุมชนเมือง
การขยายตัวของชุมชนเมืองที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วดังกล่าวยังตามมาด้วยปัญหามลภาวะ ชุมชนแออัด และแหล่งเสื่อมโทรม รวมทั้งความไม่เสมอภาคทางเศรษฐกิจและสังคมที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก ซึ่งเป็นสาเหตุก่อให้เกิดความเสื่อมโทรมทางสิ่งแวดล้อมอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหา การปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งถ้าไม่ได้รับการติดตามและแก้ไขอย่างทันท่วงที จะมีปริมาณเพิ่มสูงถึง 10.2 เมตริกตันต่อประชากร ภายในปี พ.ศ. 2593 ซึ่งเป็นระดับที่อาจนำมาซึ่งหายนะต่อทั้งภูมิภาคเอเชียและภูมิภาคอื่น ๆ ของโลก
จำนวนประชากรในชุมชนเมืองที่กำลังเพิ่มขึ้นนี้บยังหมายความว่า ผู้คนที่อาศัยในเมืองต่าง ๆ ในเอเชียจำนวนกว่า 400 ล้านคน จะต้องเสี่ยงกับสภาวะน้ำท่วมชายฝั่ง และผู้คนอีกประมาณ 350 ล้านคน ต้องเสี่ยงกับสภาวะน้ำท่วมในเมือง ภายในปี พ.ศ. 2568 โดยหากปราศจากการบริหารจัดการที่เหมาะสม แนวโน้มเหล่านี้อาจจะนำมาซึ่งการเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อมในวงกว้างและการถดถอยของมาตรฐานความเป็นอยู่ของประชากรในเอเชีย
อย่างไรก็ดี รายงานฉบับนี้ยังระบุว่า ในเวลาเดียวกัน การเติบโตของเมืองใหญ่ก็นำมาซึ่งประโยชน์หลาย ๆ อย่าง อาทิ การรวมกลุ่มของมวลชนในบริเวณเล็ก ๆ ซึ่งทำให้รัฐบาลสามารถจัดบริการสาธารณูปโภคที่จำเป็น อาทิ น้ำประปา และการสุขาภิบาล ได้อย่างคุ้มค่าและมีประสิทธิภาพมากขึ้น โอกาสทางการศึกษาที่สูงขึ้น การกระจายอำนาจการผลิตสินค้าและบริการ ผลผลิตที่เพิ่มขึ้น การเติบโตของชนชั้นกลาง และอัตราการเกิดของประชากรที่ลดลง ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่มักจะเกิดขึ้นพร้อมกับกระบวนการเปลี่ยนแปลงเป็นชุมชนเมือง ล้วนแต่เอื้อประโยชน์ในวงกว้างต่อการใช้ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม