ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในโอกาสก้าวสู่ปีที่ 50 ร่วมกับสมาคมบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (maiA) เดินหน้าโครงการ SET Social Impact GYM 2024 ต่อเนื่องเป็นปีที่ 8 พร้อมด้วยองค์กรพันธมิตร อีก 3 ราย ร่วมกันพัฒนาทักษะด้านธุรกิจเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ผู้ประกอบการเพื่อสังคม (Social Enterprise หรือ SE) โดยมุ่งเชื่อมโยง SE กับภาคเอกชน ขยายโอกาสการทำงานร่วมกัน ให้เกิดผลลัพธ์ทางสังคมอย่างเป็นรูปธรรม
นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯ ส่งเสริมให้ภาคธุรกิจดำเนินงานความยั่งยืน โดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (Environmental, Social and Governance: ESG) และพร้อมเป็นแบบอย่างการดำเนินงานตามแนวทาง ESG เพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับตลาดทุนไทย โดยหนึ่งในแผนกลยุทธ์ในการขับเคลื่อนเพื่อสร้างความยั่งยืน คือการส่งเสริมพัฒนาทักษะการเป็นผู้ประกอบการให้กับผู้ประกอบการเพื่อสังคม (SE) ภายใต้โครงการ SET Social Impact GYM ซึ่งได้ดำเนินโครงการมาตั้งแต่ปี 2017 ร่วมกับสมาคมบริษัทจดทะเบียนตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (maiA) ที่เป็นพันธมิตรหลักในการเข้ามาเป็นโค้ชจิตอาสา ให้คำแนะนำทักษะการประกอบธุรกิจ สำหรับการดำเนินโครงการในปีนี้ ยังมีองค์กรพันธมิตรอีก 3 รายมาร่วมเสริมทัพขับเคลื่อนโครงการ ได้แก่ กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ซึ่งจะมาร่วมแลกเปลี่ยนเครือข่ายและองค์ความรู้แก่ผู้เข้าร่วมโครงการ บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ซึ่งจะมาร่วมให้ความรู้การวางแผนเตรียมความพร้อมเพื่อหาแหล่งเงินทุน และบริษัท PwC ประเทศไทย ซึ่งจะมาร่วมสนับสนุนการให้ความรู้และคำปรึกษาด้านบัญชี และภาษี โดยปีนี้มี SE ที่ผ่านการคัดเลือกอย่างเข้มข้นจำนวน 10 ราย ซึ่งครอบคลุมการสร้างผลลัพธ์ทางสังคม 4 ด้าน ได้แก่ ด้านพัฒนาชุมชนและการเกษตร 3 ราย ด้านสุขภาพ 3 ราย ด้านสิ่งแวดล้อม 3 ราย และ ด้านผู้เปราะบาง 1 ราย โดย SE ส่วนใหญ่ที่ผ่านการคัดเลือกได้ดำเนินธุรกิจมาแล้วไม่ต่ำกว่า 3-5 ปี มีศักยภาพในระดับที่พร้อมขยายการเติบโตทางธุรกิจ (Growth Stage) แต่ยังขาดทักษะความรู้การประกอบธุรกิจอย่างมืออาชีพและเป็นระบบ
โดยตลอดระยะเวลา 7 ปีที่ผ่านมา โครงการ SET Social Impact GYM ได้เสริมศักยภาพผู้ประกอบการเพื่อสังคม (SE) ไปแล้วมากกว่า 80 ราย ทำให้มีแผนกลยุทธ์และทิศทางการทำธุรกิจที่ชัดเจนที่สามารถนำไปดำเนินการต่อได้จริงและขยายธุรกิจได้ทันที อีกทั้งยังช่วยเสริมสร้างโอกาสให้กับ SE ในการเชื่อมต่อการทำงาน (Business Co-Creation) กับภาคเอกชน ในหลากหลายรูปแบบ อาทิ การจ้างงาน การส่งเสริมสินค้าและบริการ การสนับสนุนช่องทางการขาย การเป็นที่ปรึกษาการทำธุรกิจ จนนำไปสู่การขยายการสร้างการเปลี่ยนแปลงทางสังคม โดยการสร้างอาชีพให้กลุ่มผู้เปราะบาง เกษตรกร และชุมชนกว่า 114,000 คน รวมถึงเสริมสร้างโอกาสทางการศึกษากว่า 8,000 คน จัดการปัญหาด้านสุขภาพกว่า 6,000 คน โดยมีผู้ได้รับประโยชน์จากการจัดการและแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมกว่า 110,000 คน